วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

การท่องเที่ยวจังหัดมุกดาหาร

คำขวัญจังหวัดมุกดาหาร : หอแก้วสูงเสียดฟ้า ภูผาเทิบแก่งกะเบา แปดเผ่าชนพื้นเมือง
ลือเลื่องมะขามหวาน กลองโบราณล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดลำผญา ตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน

ประวัติจังหวัดมุกดาหาร
ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงแขวงสวันเขต มีหมู่บ้านชุมชนใหญ่ชื่อบ้านหลวงโพนสิน ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณพระธาตุอิงฮัง แขวงสวันเขตในปัจจุบัน โดยมีเจ้าจันทรสุริยวงศ์ปกครอง มีบุตรชายชื่อเจ้ากินรี ซึ่งต่อมาได้ข้ามลำน้ำโขงมาฝั่งขวาที่บริเวณปากห้วยมุก สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้น ณ ที่นั้นในปี พ.ศ. 2310 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2313 และตั้งชื่อเมืองว่า “มุกดาหาร” อันเกิดจากศุภนิมิตรที่พบเห็นในขณะที่กำลังสร้างเมือง ชาวเมืองทั่วไปเรียกมุกดาหารว่า เมืองมุก
ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้เจ้ากินรีเป็นพระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามัณฑาตุราช ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคนแรกของเมืองมุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ. 2321
เดิมเมืองมุกดาหารมีฐานะเป็นเมืองขึ้นการปกครองกับมณฑลอุดร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2450 มีการปรับปรุงการปกครองมณฑลอุดรเป็นจังหวัด และเมืองมุกดาหารจึงถูกยุบเป็นอำเภอเมืองมุกดาหาร ขึ้นการปกครองกับจังหวัดนครพนม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดมุกดาหารขึ้นเป็นจังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่ 17 ของภาคอีสาน จังหวัดมุกดาหารเป็นประตูด่านสำคัญสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน มีความสัมพันธ์ฉันท์บ้านพี่น้องกับแขวงสวันเขต สปป.ลาว มาช้านาน โดยมีแม่น้ำโขงซึ่งมีความยาวถึง 70 กิโลเมตร เป็นเส้นกั้นพรมแดน และมีความโดดเด่นในด้านชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆที่มีถึง 8 เผ่าได้แก่ เผ่าไทยอีสาน ภูไท ไทยข่า กระโซ่ ไทยย้อ ไทยกะเลิง ไทยแสกและไทยกุลา และยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มุกดาหารมีพื้นที่ประมาณ 4,339.830 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดงหลวง อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอหนองสูง


น้ำตกตาดโตน อยู่ห่างจากอำเภอหนองสูงไปทางทิศใต้ และอยู่ห่างจากอำเภอคำชะอีไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสาย 2042 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 67-68 แยกเข้าไปอีกประมาณ 400 เมตร ทางขวามือ ระยะน้ำตกสูง 7 เมตร กว้าง 30 เมตร มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมุกดาหารและชาวจังหวัดใกล้เคียง





แก่งกะเบา เป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง บนฝั่งก็ยังมีลานหินกว้างใหญ่เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี ในฤดูแล้งน้ำลดจนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำ และหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่นๆ การเดินทางใช้เส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม (ทางหลวงหมายเลข 212) ประมาณ 20 กิโลเมตร แยกขวาไปอำเภอหว้านใหญ่อีก 9 กิโลเมตร จะพบทางแยกไปแก่งกะเบา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนืออีก 8 กิโลเมตร


วัดมโนภิรมย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในเขตตำบลชะโนด เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นโดยช่างสถาปัตยกรรมจากนครเวียงจันทน์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 เกิดไฟไหม้วัดเสียหายอย่างมากมาย และได้บูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2454 ที่วัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ เช่น วิหาร พระอุโบสถ พระพุทธรูป และซุ้มบันไดโบสถ์ที่เก่าแก่และสวยงาม


หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก อยู่ในตัวเมืองมุกดาหารเป็นหอสูง ภายในมีห้องจัด แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองมุกดาหาร วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองของชนสองฝั่งโขง ชั้นบนสุด(ชั้น7)เป็นหอพระประดิษฐานพระพุทธรูปนวมิ่งมงคลมุกดาหารและสามารถชมทัศนียภาพรอบตัวเมือง แม่น้ำโขงและฝั่งลาวได้อย่างสวยงาม เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชม 20 บาท




ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ตั้งอยู่บนถนนสองนางสถิตย์ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร ในบริเวณศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนี้ มีหลักเมืองประดิษฐานอยู่ด้วย ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนี้ไม่มีผู้ใดทราบความเป็นมาว่าสร้างในสมัยใดสันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองมุกดาหาร แต่เดิมเป็นเพียงศาลไม้ต่อมาได้มีการบูรณะก่อสร้างเป็นศาลคอนกรีต ชาวเมืองมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ปกปักรักษาเมืองมุกดาหารให้ร่มเย็นเป็นสุข


ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง ตั้งอยู่บนถนนสำราญชายโขง ริมแม่น้ำโขง ติดกับท่าด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดมุกดาหาร ศาลแห่งนี้เดิมเป็นศาลไม้ไม่ทราบประวัติความเป็นมา ต่อมาได้มีการบูรณะเป็นศาลคอนกรีต ชาวจังหวัดมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่กับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวจังหวัดมุกดาหารจะจัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองและเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกัน


วัดศรีมงคลใต้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงในตัวเมืองมุกดาหาร ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระเจ้าองค์หลวง พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง สร้างขึ้นก่อนตั้งเมืองมุกดาหาร แต่ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด มีขนาดหน้าตักกว้าง 2.20 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี 2 เมตร ตามตำนานเล่าว่า เมื่อ พ.ศ. 2310 ขณะที่เจ้ากินรีคุมบ่าวไพร่ถากถางอยู่ใกล้ต้นตาลเจ็ดยอด เมื่อครั้งสร้างเมืองใหม่นั้นได้พบพระพุทธรูปสององค์ องค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน องค์เล็กเป็นพระพุทธรูปเหล็กอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เจ้ากินรีจึงสร้างวัดขึ้นบริเวณนั้น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสององค์ วันหนึ่งเมื่อพระภิกษุประจำวัดเข้าไปสักการะ ปรากฏว่าไม่พบพระพุทธรูปเหล็ก เมื่อค้นดูรอบๆ บริเวณวัด พบว่าพระพุทธรูปเหล็กไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ตามเดิม และจมลงในดินเหลือแต่ยอดพระเมาลีเป็นที่น่าอัศจรรย์ เจ้ากินรีจึงสร้างแท่นสักการะบูชาไว้ ณ ที่นั้น และถวายนามว่า "พระหลุบเหล็ก" ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ ในโบสถ์ เรียกนามว่า "พระเจ้าองค์หลวง" เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมุกดาหารนับแต่นั้นมา

อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร (ภูผาเทิบ) เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 59 ของประเทศไทยมีเนื้อที่ 48.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,312.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารและอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล (ทางหลวงหมายเลข 2034) แยกเข้าทางขวามืออีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือ นั่งรถจากกรุงเทพฯไปลงที่สถานีขนส่งมุกดาหาร และต่อรถสองแถว (สีเหลือง) ค่าโดยสารประมาณ 5 บาทไปลงที่ตลาดพรเพชร แล้วต่อรถสองแถวสายมุกดาหาร - ดอนตาล ค่าโดยสารประมาณ 10 บาท ลงที่ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติมุกดาหารหรือบอกให้คนขับรถเข้าไปส่งที่อุทยานฯก็ได้ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกัน แบบลูกคลื่นและเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ขนานและห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 4 กิโลเมตร ภายในอุทยานมุกดาหารประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิงห์ ห้วยเรือ ห้วยมะเล ห้วยช้างชน เป็นต้น แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูงและลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลกๆ มากมาย สถานที่น่าเที่ยวชมภายในอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร ได้แก่
1.กลุ่มหินเทิบ การเกิดกลุ่มหินเทิบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่มาของประติมากรรม ธรรมชาติเหล่านี้ล้วนเกิดจากการกัดเซาะของฝน น้ำ ลมและแสงแดด ผ่านกาลเวลามาถึง 120-95 ล้านปีทำให้กลุ่มหินเหล่านี้มีสภาพแตกต่างกันไปดูคล้ายรูปไอพ่น จานบิน เก๋งจีน มงกุฎ หัวจระเข้และหอยสังข์ ซึ่งความคงทนของชั้นหินที่แตกต่างกันก็เนื่องจากการประสานของเนื้อทรายแตกต่างกัน หินทรายชั้นบนที่คงทนมีสีเนื้อหินเป็นสีน้ำตาล มีส่วนประกอบที่เป็นซิลิกาและเม็ดกรวดมาก ส่วนหินทรายชั้นต่ำลงมาที่ไม่คงทนมีสีของเนื้อหินเป็นสีขาวจะมีส่วนผสมของคาร์บอเนตมากสภาพของธรณีวิทยา บริเวณกลุ่มหินเทิบประกอบด้วยหินชั้นของหมวดหินเสาขัวและกลุ่มหินภูพานของกลุ่มหินโคราช มีการลำดับชั้นหินอยู่ในมหายุคมีโซโซอิค ประกอบด้วย หินโคลน หินทราย หินทรายแป้ง และหินกรวดมนหนาประมาณ 200 เมตร
2.ลานมุจลินท์ เป็นลานหินเรียบทอดยาวกว้างไกลต่อจากกลุ่มหินเทิบ โดยมีป่าเต็งรังแคระล้อมรอบให้ความงดงามกลมกลืนกับธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง มีพันธุ์ไม้พุ่มจำพวกข่อยหิน นางฟ้าจำแลง อ้นเหลืองและกระโดนดาน เป็นส่วนประกอบจุดเด่นของที่นี้ที่ไม่ควรมองข้ามคือกลุ่มดอกหญ้าของสังคมพืชขนาดเล็ก เช่น สร้อยสุวรรณา หยาดน้ำค้าง หนาวเดือนห้า ดาวรวมดวงและดุสิตา ซึ่งจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี ณ กลางลานแห่งนี้ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพแม่น้ำโขงได้ด้วย
3.น้ำตกวังเดือนห้า เป็นน้ำตกขนาดเล็กเกิดจากสายธารที่ไหลผ่านลานหินมุจลินท์ ภายในน้ำตกประกอบไปด้วยแอ่งหิน หุบหิน โขดหิน นักท่องเที่ยวนิยมไปชมทัศนียภาพและเล่นน้ำตกในฤดูแล้ง จะมีบ่อน้ำซับไหลหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์และสัตว์ป่า

4.ผาอูฐ หน้าผาแห่งนี้มีประติมากรรมหินรูปร่างคล้ายอูฐทะเลทรายและเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นภูถ้ำพระ ผาผักหวานและผาขี้หมู ได้อย่างชัดเจน เบื้องล่างของผาอูฐคือหุบเขากว้างไกลและมีป่าไม้เขียวขจีปกคลุม

5.ภูถ้ำพระ ตามตำนานแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ สมัยโบราณ เคยมีหมู่บ้านขอมอาศัยอยู่มาก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานหนีภัยธรรมชาติ จึงนำพระพุทธรูปที่ตนบูชาสักการะไปเก็บไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ประกอบไปด้วย พระเงิน พระนาก พระทองคำ พระหยก พระว่านและพระไม้ เป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน พระพุทธรูปที่มีค่าสูญหายคงเหลือเฉพาะพระที่แกะสลักด้วยไม้เท่านั้น ณ ตรงนี้ยังมีน้ำตกที่สวยงามคือ "น้ำตกภูถ้ำพระ" อีกด้วย
6.ผามะนาว เป็นหน้าผาเรียบสูงชันมีน้ำตกไหลจากบนหน้าผาลงสู่เบื้องล่างหล่อเลี้ยงทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้อุดมสมบูรณ์ ด้านบนหน้าผาสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของกลุ่มหินเทิบและแม่น้ำโขงได้กว้างไกล ด้านล่างของหน้าผาจะพบความสวยงามของน้ำตก ป่าไม้และสัตว์ป่า สำหรับที่มาของชื่อผามะนาว เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีต้นมะนาวป่าขึ้นเป็นจำนวนมาก
7.ถ้ำฝ่ามือแดง นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าภาพเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีและเป็นของมนุษย์สมัยโบราณ แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้อยู่ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร 1(ห้วยสิงห์) ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติมุกดาหารประมาณ 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติมุกดาหารยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายจุดคือ ผางอยและผาปู่เจ้า ฤดูกาลท่องเที่ยวของอุทยานฯคือ ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ และฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร


หอยสมัยหิน มีลักษณะคล้ายหอยสังข์จำนวนมาก ฝังอยู่ในดินลึกประมาณ 40 ฟุต พบที่โคกหินแดง บ้านนายอ ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2034 เลี้ยวซ้ายตรงหลักกิโลเมตรที่ 17-18 ปากทางเข้าบ้านนาโพธิ์ จากการวิจัยของกรมทรัพยากรธรณีโดยนำหอยไปวัดความหนาแน่นแล้วทำให้ทราบว่า เปลือกโลกบริเวณนี้มีอายุประมาณ 27 ล้านปี ซึ่งขุดพบเป็นแห่งที่ 3 ของโลก บริเวณที่พบเปลือกหอยนี้ ปรากฏว่าเป็นชั้นหินปูนหนาประมาณ 1 ฟุต เหมาะสำหรับผู้สนใจทางด้านธรณีวิทยา



อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เป็นอุทยานที่มีพื้นที่อยู่บนแนวรอยต่อ 3 จังหวัด คือ อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ประมาณ 321 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 144,375 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2535 เป็นลำดับที่ 75 ของประเทศ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์มาก มีความงามทางธรรมชาติให้สัมผัสหลายแบบ เช่น เดินชมทิวทัศน์บนยอดภูเขา ความมหัศจรรย์ของโขดหิน ชมไม้ดอกบนทุ่งหญ้าช่วงปลายฤดูฝนและชมดอกบัวธรรมชาติบนยอดเขาที่ชาวท้องถิ่นเรียกว่า"ภูเขาแห่งดอกบัว" สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีความสูงโดยเฉลี่ย 350-450 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มียอดสูงที่สุดคือ ภูกระแซะ สูงประมาณ 491 เมตร เทือกเขาเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยทม ห้วยก้านเหลือง ซึ่งไหลรวมลงสู่พื้นราบโดยรอบอุทยานฯ ซึ่งประกอบด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์หลายชนิด พื้นที่หลายแห่งมีลานหินขนาดใหญ่ ซึ่งชาวท้องถิ่นเรียกว่า "ดาน" กระจายอยู่ตามป่า ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งกระจายอยู่ตามเทือกเขาต่างๆ มีไม้ที่มีค่าขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น มะค่าโมง ประดู่แดง พยุง ชิงชัน บริเวณพื้นที่ป่าเหล่านี้ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะที่เทือกเขาภูสระดอกบัวซึ่งเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ สามารถพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด เช่น เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า ลิง บ่าง เม่น กระจง และสัตว์ปีกประเภทต่างๆ ได้แก่ ไก่ฟ้า ไก่ป่า เป็นต้น บริเวณอุทยานฯ ประกอบด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม ความวิจิตรพิสดารของหินผามีความเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ตลอดจนร่องรอยของการต่อสู้อันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ภูสระบัว ได้แก่ภูผาแต้ม เป็นหน้าผาประกอบด้วยรูปรอยฝ่ามือและการเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าเป็นยุคเดียวกับภาพเขียนสี ในถ้ำฝ่ามือแดงของอุทยานแห่งชาติภูผาแต้ม และที่อุทยานแห่งชาติภูผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หน้าผามีลักษณะคล้ายถ้ำเพราะหินไหลเลื่อนลงมามีความยาวประมาณ 60 เมตร ภาพเหล่านี้อยู่สูงจากพื้นถ้ำประมาณ 3-5 เมตร เป็นภาพมือและภาพสัญลักษณ์รวม 98 ภาพ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างอย่างน่าสนใจ นักท่องเที่ยวที่สนใจเดินเท้าใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
ผามะเกลือ จุดพักผ่อนหย่อนใจและที่ชมวิว อยู่ใกล้บริเวณผาแต้ม มีลักษณะเป็นลานหินใต้เพิงผาร่มรื่นไปด้วยแมกไม้เหมาะสำหรับนั่งเล่นนั่งพักผ่อนลานดอกไม้บนภูวัด เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่มีดอกไม้ เช่น ดอกเอนอ้า ดอกกระดุมเงิน และดอกดุสิตาบนลานหินบริเวณกว้าง อดีตชาวท้องถิ่นใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา ดอกไม้จะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝน
ภูผาหอม เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากของเทือกเขาภูผาแต้ม ระหว่างทางเดินจะผ่านป่าไผ่ ลานหิน และป่าเต็งรังที่สวยงาม จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ในระยะไกลออกไปทางทิศตะวันตก มีความสูงประมาณ 366 เมตร จากระดับน้ำทะเลด้านหลังจะมองเห็นภูหมู ภูแผงม้า ภูไม้ซาง ภูซอง ภูอัครชาด ในยามเย็นตรงจุดนี้มีนักท่องเที่ยวนิยมมาชมพระอาทิตย์อัสดง เพื่อเก็บภาพอันน่าประทับใจ และพักค้างแรมกันมาก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งภูสระดอกบัว เป็นภูเขาที่มีความสูงประมาณ 423 เมตร บนรอยต่อเขต 3 จังหวัด ที่ยอดภูสระดอกบัวมีแอ่งหินขนาดกว้างประมาณ 2-3 เมตร จำนวน 11 แอ่ง มีน้ำขังตลอดปี มีบัวพันธุ์ต่างๆ ขนาดเล็ก ขึ้นอยู่เต็มสระเมื่อออกดอกจะดูสวยงามมาก ชาวบ้านเล่ากันว่ามีบัวขึ้นอยู่อย่างนี้มานานแล้ว และเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงได้ชื่อว่า "ภูสระดอกบัว" ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 วันภูผาแตก หรือชื่อทางยุทธศาสตร์ว่า "เนิน 428" ที่นี่มีจุดชมวิวมีองค์ประกอบทางธรรมชาติสวยงาม ทางด้านทิศเหนือสามารถมองเห็นทิวเขาของอุทยานแห่งชาติมุกดาหารในระยะไกลได้ ลานหินและป่าเต็งรังแคระ พบได้ทั่วไป และมีอยู่มาก เป็นลานหินยาวและใหญ่ บางแห่งมีขนาด 20-40 ไร่ สลับกับป่าเต็งรังแคระ บางแห่งเป็นป่าเต็งรังสลับกับป่าหญ้าเพ็ก มองดูสวยงามมาก และพบได้หลายแห่ง เช่น ภูผาหอม หลังภูผาด่าง หลังภูผา ภูสระดอกบัว ภูบก ภูหัวนาค เป็นต้น

การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2277 (อ.เลิงนกทา-อ.ดอนตาล) ระหว่างกิโลเมตรที่ 22-24 ประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งห่างจากอำเภอเลิงนกทาประมาณ 28 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอดอนตาลประมาณ 22 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานป่าไม้ จังหวัดมุกดาหาร โทร. 0 4261 1757 หรือที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว โทร. 0 4261 9076 หรือ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 0 2579 7223, 0 2579 5734 www.thaiparks.com
กลองมโหระทึก เป็นกลองสัมฤทธิ์หน้าเดียว เส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร ตัวกลองยาว 90 เซนติเมตร หน้ากลองเป็นรูปตะวันนูน มีแฉก 14 แฉก มีรูปกบติดขอบกลองจำนวน 4 ตัว กลองดังกล่าวเชื่อว่าอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี และเป็นกลองที่พวกข่าและขอมโบราณชอบเก็บสะสมไว้ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2481 ที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขงที่น้ำเซาะพังตรงบ้านนาทาม โดยตอนแรกเก็บไว้ที่วัดเวินไชยมงคล อำเภอดอนตาล แต่ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอดอนตาล โดยสร้างเป็นหอกลองเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคง
 
 
วัดภูด่านแต้ หรือวัดพุทธโธธัมมะธะโร

 ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 212 ที่บ้านชัยมงคล ตำบลโชคชัย อำเภอนิคมคำสร้อย ห่างจากตัวอำเภอนิคมคำสร้อยประมาณ 4 กิโลเมตร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 134 ด้านขวามือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีธรรมจักรเปล่งรัศมีอยู่ด้านบนมีความอ่อนช้อยสวยงาม สามารถมองเห็นได้แต่ไกล บริเวณวัดเป็นหินดานธรรมชาติ มีประชาชนจากที่ต่างๆ เข้าไปนมัสการและชมความงามของบริเวณวัดกันอยู่เสมอ